วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

5สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ ที่สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้สังคมโลก

5สุดยอดนักวิทยาศาสตร์

1. ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton)

ไอแซก นิวตัน (ค.ศ. 1642 – 1727) นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ และนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดตลอดกาลและมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ หนังสือเล่มสำคัญของเขาที่ชื่อ Mathematical Principles of Natural Philosophy คือหนังสือที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ นิวตันได้คิดค้นกฎการเคลื่อนที่และกฎแรงโน้มถ่วงซึ่งเป็นกฎทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นเสาหลักของการศึกษาจักรวาลทางกายภาพตลอดมา นิวตันแสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนที่ของวัตถุบนโลกและวัตถุบนท้องฟ้าล้วนอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเดียวกัน นิวตันยังเป็นผู้สร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่สามารถใช้งานจริงได้เป็นเครื่องแรก เป็นผู้พัฒนาทฤษฎีสี ค้นพบสเปกตรัมแสง คิดค้นกฎการเย็นตัว และศึกษาความเร็วของเสียง ผลงานของเขาช่วยให้การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

นิวตันให้กำเนิดวิชาคณิตศาสตร์แขนงใหม่หลายเรื่องด้วยกันได้แก่วิชาแคลคูลัส (Calculus) ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อแคลคูลัสเชิงอินทิกรัล (Integral Calculus) นิวตันยังค้นพบทฤษฎีบททวินาม (Binomial Theorem) และวิธีการกระจายอนุกรม (Method of Expression) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาพีชคณิต กล่าวกันว่าผลงานของนิวตันเป็นความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ในทุกสาขาของคณิตศาสตร์ในยุคนั้น จากตำนานลูกแอปเปิลตกนำไปสู่การสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างอเนกอนันต์ เมื่อนิวตันเสียชีวิตลงพิธีศพของเขาจึงถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่เทียบเท่ากษัตริย์ ศพของเขาฝังอยู่ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เช่นเดียวกับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงของอังกฤษ

ผลงานเด่น :
– คิดค้นกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน
– คิดค้นกฎแรงดึงดูดสากล
– พัฒนาวิชาแคลคูลัส
– คิดค้นทฤษฎีสี

2. อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (ค.ศ. 1879 – 1955) นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมันเชื้อสายยิวถือสัญชาติสวิสและอเมริกัน เป็นผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพหนึ่งในสองเสาหลักของฟิสิกส์สมัยใหม่ร่วมกับกลศาสตร์ควอนตัม เขาเป็นเจ้าของสูตรที่โด่งดังที่สุดในโลก E = mc2 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการอธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริกและจากการทำประโยชน์แก่ฟิสิกส์ทฤษฎี หลังจากที่ไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปในปีค.ศ. 1915 เขาก็กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยธรรมดานักสำหรับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง เขาเป็นที่เคารพนับถือในความรู้แจ้งเห็นจริงในจักรวาลซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก กลายเป็นแบบอย่างและสัญลักษณ์ของความฉลาดหรือความอัจฉริยะ ดังคำที่มีผู้ยกย่องเขาว่า “ไอน์สไตน์มีความหมายเดียวกันกับอัจฉริยะ”

ไอน์สไตน์ถือว่าเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ช้าเนื่องจากมีความบกพร่องทางการอ่านเขียน (Dyslexia) แต่เขากลับบอกว่าการพัฒนาทฤษฎีของเขาเป็นผลมาจากความเชื่องช้านี่เอง เพราะเขามีเวลาครุ่นคิดถึงอวกาศและเวลามากกว่าเด็กคนอื่น ในช่วงเริ่มต้นทำงานวิจัยไอน์สไตน์คิดว่ากลศาสตร์ของนิวตันไม่เพียงพอที่จะรวมกฎของกลศาสตร์ดั้งเดิมหรือกลศาสตร์ของนิวตันเข้ากับกฎของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้ นำไปสู่การคิดค้นพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ต่อมาเขาได้ขยายทฤษฎีให้ครอบคลุมไปถึงสนามแรงโน้มถ่วงด้วยจึงเกิดเป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปซึ่งใช้อธิบายโครงสร้างของจักรวาลได้ เขายังมีผลงานด้านกลศาสตร์เชิงสถิติและทฤษฎีควอนตัม รวมไปถึงทฤษฎีอนุภาคและการเคลื่อนที่ของโมเลกุล ไอน์สไตน์ได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 300 ชิ้นและงานอื่นที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์อีกกว่า 150 ชิ้น ทุกวันนี้ไอน์สไตน์ยังคงเป็นที่รู้จักดีในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังที่สุดทั้งในวงการวิทยาศาสตร์และนอกวงการ

ผลงานเด่น :

– ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ
– ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป
– ทฤษฎีโฟตอนกับความเกี่ยวพันระหว่างคลื่นและอนุภาค
– ทฤษฎีควอนตัมเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของอะตอมในของแข็ง

3. กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei)

กาลิเลโอ กาลิเลอี (ค.ศ. 1564 – 1642) นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิวัติวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เป็นคนแรกที่นำคณิตศาสตร์และการทดลองมาใช้เป็นเครื่องมือในการพิสูจน์กฎเกณฑ์ทางธรรมชาติอย่างเป็นระบบอันเป็นรากฐานของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน กาลิเลโอค้นพบและสร้างกฎเพนดูลัม (Pendulum) หรือกฎการแกว่งของนาฬิกาลูกตุ้มที่นำไปสู่การสร้างนาฬิกาให้เที่ยงตรง เขาได้ทดลองปล่อยวัตถุสองอย่างที่มวลไม่เท่ากันจากหอเอนปีซาแต่ตกถึงพื้นพร้อมกันที่ทุกคนจำได้ดี กาลิเลโอประดิษฐ์และพัฒนากล้องโทรทรรศน์ให้สามารถส่องดูดวงดาวได้อย่างชัดเจน กาลิเลโอพบว่าผิวดวงจันทร์ขรุขระมีภูเขาและหุบเหว พบว่าทางช้างเผือกอัดแน่นไปด้วยดาวฤกษ์จำนวนมาก พบวงแหวนของดาวเสาร์ พบจุดดับบนดวงอาทิตย์ พบดวงจันทร์บริวารสำคัญของดาวพฤหัสบดี 4 ดวง และจากการเฝ้าสังเกตการณ์ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีนี่เองที่ทำให้กาลิเลโอพิสูจน์ได้ว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์

การค้นพบว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์สนับสนุนทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสที่เสนอให้ดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ใช่ดวงอาทิตย์และดาวอื่นๆทั้งหมดโคจรรอบโลกอย่างที่เชื่อกันมานับพันปีได้ทำให้เกิดการต่อต้านจากศาสนจักรเพราะขัดแย้งกับคำสอนในสมัยนั้น กาลิเลโอถูกสั่งห้ามพูดเกี่ยวกับทฤษฎีของโคเปอร์นิคัส แต่กาลิเลโอยังคงมุ่งมั่นค้นคว้าด้านดาราศาสตร์ต่อไปและมีผลงานเป็นหนังสือออกมาอีก ทำให้เขาถูกต่อต้านอย่างหนัก หนังสือก็ถูกห้ามขายในอิตาลี และตัวเขาถูกกล่าวหาเป็นคนนอกรีตต้องโทษจำคุก ต่อมาเขาถูกบังคับให้กล่าวคำขอโทษเพื่อแลกกับชีวิตและอิสระ แต่ยังถูกควบคุมในบ้านหลังหนึ่งตลอดชีวิต ระหว่างถูกควบคุมตัวเขาก็ยังมีผลงานเขียนหนังสือเล่มสำคัญ กระทั่งช่วงบั้นปลายชีวิตแม้ตาของเขาบอดทั้งสองข้างกาลิเลโอก็ยังทำงานวิจัยต่อไปโดยให้ลูกศิษย์ทำการสังเกตและรายงานผลให้เขาวิเคราะห์ เขาคือนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่โดยแท้

ผลงานเด่น :

– คิดค้นกฎเพนดูลัม
– พิสูจน์ทฤษฎีวัตถุหนักหรือเบาตกถึงพื้นพร้อมกันเสมอ
– พัฒนากล้องโทรทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจนส่องดูดาวได้
– ค้นพบดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี 4 ดวง
– ค้นพบวงแหวนดาวเสาร์

4. นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla)

นิโคลา เทสลา (ค.ศ. 1856 – 1943) เป็นนักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์ และวิศวกรไฟฟ้าชาวเซอร์เบียน-อเมริกัน เป็นผู้สร้างนวัตกรรมล้ำยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง สิทธิบัตรของเทสลาและผลงานเชิงทฤษฎีของเขากลายเป็นพื้นฐานของระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้งานทั่วโลกในปัจจุบันได้แก่ ระบบจ่ายกำลังหลายเฟส และมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ เป็นผู้ประดิษฐ์และค้นพบเทคโนโลยีใหม่มากมาย เช่น ขดลวดเทสลา (Tesla coil) เครื่องวัดความเร็วติดรถยนต์ เครื่องกระจายเสียงผ่านวิทยุ วิธีการเปลี่ยนสนามแม่เหล็กเป็นสนามไฟฟ้าซึ่งเป็นที่มาของหน่วยวัดสนามแม่เหล็กเทสลาซึ่งวิศวกรรุ่นหลังตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา นอกจากนี้เขายังได้ศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีล้ำยุคเรื่องการส่งผ่านพลังงานแบบไร้สายหรือเทคโนโลยี wireless ที่ปัจจุบันกำลังเฟื่องฟู

เทสลาเป็นนักประดิษฐ์ยุคเดียวกันเอดิสันแถมยังเป็นคู่แข่งกัน เอดิสันสนับสนุนการใช้ไฟฟ้ากระแสตรงส่วนเทสลาพัฒนาไฟฟ้ากระแสสลับจนถึงกับเกิดสงครามกระแสไฟฟ้า (War of Currents) ซึ่งส่งผลต่ออุตสาหกรรมในยุคนั้นอย่างมาก เทสลามีแนวคิดล้ำยุคมีจินตนาการก้าวไกลเกินกว่าผู้คนยุคเดียวกันมาก เช่น เขามีแนวคิดจะทำโลกทั้งใบให้เป็นสื่อนำไฟฟ้าเพื่อให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปให้คนทุกคนในโลกได้ใช้กระแสไฟฟ้าอย่างเสรี หรือคิดสร้างอาวุธลำแสงมหาประลัยที่มีอานุภาพร้ายแรงขนาดแยกโลกของเราให้แตกออกเป็นสองส่วนได้ จนถูกเรียกว่านักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง (mad scientist) หลังจากเทสลาเสียชีวิต FBI ได้สั่งทุกฝ่ายว่าเรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเทสลาต้องถูกจัดการอย่างลับที่สุด และต้องรักษาความลับของสิ่งประดิษฐ์ของเขาให้เป็นความลับตลอดไป นี่คือนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่ากับผลงานของเขา เขาคือ ‘อัจฉริยะที่โลกลืม’

ผลงานเด่น :

– ประดิษฐ์ขดลวดเทสลา
– ประดิษฐ์มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ
– ประดิษฐ์หลอดฟลูออเรสเซนต์
– คิดค้นวิธีการสื่อสารแบบไร้สาย
– คิดค้นรีโมตคอนโทรล

5. มารี คูรี (Marie Curie)

มารี คูรี (ค.ศ. 1867 – 1934) นักฟิสิกส์และนักเคมีชาวโปแลนด์ที่ต่อมากลายเป็นพลเมืองของฝรั่งเศส เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านกัมมันตภาพรังสีและเป็นผู้ค้นพบธาตุเรเดียมที่ใช้รักษาโรคมะเร็งที่ทำให้คนตายเป็นอันดับหนึ่งมาทุกยุคสมัย เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัลโนเบล เป็นคนแรกและผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบล 2 ครั้ง และเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์ 2 สาขา มารี คูรีเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่เก่งที่สุดและได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก แม้จะขัดสนเรื่องการเงินและถูกกีดกันจากการเป็นผู้หญิง มารีได้ต่อสู้ดิ้นรนโดยหยุดเรียนเพื่อทำงานส่งให้พี่สาวของเธอเรียนจนจบก่อน แล้วให้พี่สาวส่งเธอเรียนด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่กรุงปารีสตามที่เธอตั้งใจ

มารีเริ่มค้นคว้าด้านกัมมันตภาพรังสีร่วมกับสามีคือปิแอร์ คูรีจนค้นพบว่ามีพลังงานถูกปล่อยออกมาจากแร่พิตช์เบลนด์ และได้พยายามแยกธาตุใหม่ออกจากแร่พิตช์เบลนด์ หลังจากใช้เวลาค้นคว้าราว 7 ปีเธอก็สามารถแยกธาตุใหม่ที่เธอเรียกว่าเรเดียมได้สำเร็จ ผลงานนี้ทำให้มารีและสามีได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ หลังจากปิแอร์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มารียังคงมุ่งมั่นค้นคว้าต่อไปโดยมุ่งไปที่การใช้ประโยชน์ของเรเดียมในทางการแพทย์ จนเธอได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่สองในสาขาเคมี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 มารีได้ตั้งหน่วยเอกซเรย์เคลื่อนที่ตระเวนรักษาทหารที่บาดเจ็บตามที่ต่างๆ หลังสงครามมารีได้กลับมาทำงานวิจัยอีกครั้ง แต่ผลกระทบจากการสัมผัสกับรังสีของเรเดียมเป็นเวลานานทำให้ไขกระดูกเธอถูกทำลายและเสียชีวิต การค้นพบที่ช่วยชีวิตผู้คนได้จำนวนมาก กลับต้องแลกด้วยชีวิตของเธอ

ผลงานเด่น :

– รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากผลงานการค้นพบธาตุเรเดียม
– รางวัลโนเบลสาขาเคมีจากผลงานการค้นคว้าหาประโยชน์จากธาตุเรเดียม

ที่มา: takieng

Tags

แชร์:

เรื่องอื่นๆ