5นักวิทยาศาสตร์สุดเก่ง
1. ทอมัส เอดิสัน (Thomas Edison)
ทอมัส เอดิสัน (ค.ศ. 1847 – 1931) เป็นยอดนักประดิษฐ์คนสำคัญของโลกชาวอเมริกา ผลงานของเขาหลายชิ้นได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้เป็นสังคมสมัยใหม่ เอดิสันเป็นตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จด้วยความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร เขาแทบจะไม่เคยได้เรียนหนังสือในโรงเรียน แต่ทำการศึกษาค้นคว้าทดลองด้วยตัวเองตั้งแต่วัยเด็กจนถึงบั้นปลายของชีวิต เอดิสันสามารถนำเงินที่ได้จากการขายสิทธิบัตรผลงานที่เขาประดิษฐ์ได้ชิ้นแรกมาสร้างโรงงานที่มีห้องปฏิบัติการวิจัยในตัวซึ่งกลายเป็นต้นแบบของโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ด้วยวัยเพียง 23 ปี
แม้ว่าเอดิสันจะไม่ใช่คนแรกที่ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า แต่เขาเป็นผู้ที่คิดค้นพัฒนาหลอดไฟฟ้าที่ใช้งานตามบ้านเรือนได้สำเร็จ ไม่เพียงเท่านี้เขายังเป็นผู้สร้างโรงจ่ายกระแสไฟฟ้าที่เมืองนิวยอร์ก ลากสายไฟฟ้าไปทั่วเมืองให้ทุกคนมีโอกาสใช้ไฟฟ้าอย่างทั่วถึงกัน และส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เอดิสันเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียง, เครื่องบันทึกภาพเคลื่อนไหว ซึ่งต่อมาเขาได้นำมารวมกันกลายเป็นเครื่องถ่ายทำภาพยนตร์ เขายังเป็นผู้ประดิษฐ์แบตเตอรี่ เครื่องผสมปูนซิเมนต์ และสิ่งประดิษฐ์อื่นๆอีกนับพันชิ้น เอดิสันมีสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ภายใต้ชื่อของเขาเป็นจำนวนถึง 1,093 ชิ้น ก่อตั้งบริษัทด้านไฟฟ้าอีกหลายบริษัทรวมทั้งเจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric) บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของโลก
ผลงานเด่น :
– ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า
– ประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียง
– ประดิษฐ์เครื่องถ่ายภาพเคลื่อนไหว
– ประดิษฐ์แบตเตอรี่
2. หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)
หลุยส์ ปาสเตอร์ (ค.ศ. 1822 – 1895) นักเคมีและนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เป็นผู้ที่ค้นพบว่าการเน่าเสียของอาหารเกิดจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เขาเรียกว่าจุลินทรีย์ ปาสเตอร์พบว่าจุลินทรีย์ส่งผลเสียมากมายทำให้เขาทำการค้นคว้าเกี่ยวกับจุลินทรีย์อย่างต่อเนื่องจนค้นพบวิธีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ด้วยวิธีพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) การค้นพบนี้ทำให้สาขาวิชาจุลชีววิทยาโดดเด่นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
ต่อมาปาสเตอร์ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโรคระบาดในสัตว์ และได้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคที่ร้ายแรงที่สุดตอนนั้นคือโรคแอนแทรกซ์ได้สำเร็จ ตามด้วยการค้นคว้าหาวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคในไก่ แต่การค้นพบวัคซีนที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดคือวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคที่ทำให้คนตายไปพอสมควร และจากการพบวัคซีนนี้ทำให้ค้นพบวัคซีนป้องกันโรคอีกมากมาย เช่น อหิวาตกโรค วัณโรค และโรคคอตีบ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก ปีค.ศ. 1888 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้งสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีส จากนั้นสถาบันปาสเตอร์ก็ได้ก่อตั้งขึ้นอีกหลายแห่งในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยภายใต้ชื่อ “สถานเสาวภา” เพื่อใช้เป็นสถานที่ทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อชนิดต่างๆ
ผลงานเด่น :
– คิดค้นวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
– ค้นพบจุลินทรีย์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเน่าเสีย
– คิดค้นวิธีการทำพาสเจอร์ไรซ์
3. ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)
ชาลส์ ดาร์วิน (คศ. 1809 – 1882) เป็นนักธรรมชาติวิทยา นักธรณีวิทยา และนักชีววิทยาชาวอังกฤษ เป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในเรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ดาร์วินเป็นผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อเดิมๆเกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิต และเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ และหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ดาร์วินอธิบายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จุดชนวนให้เกิดการโต้เถียงขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน
ดาร์วินสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติตั้งแต่วัยเด็ก ชอบการทดลองเกี่ยวกับสัตว์และพืช เขาศึกษาด้านธรรมชาติวิทยามาโดยตลอด จนกระทั่งได้รับเชิญเข้าร่วมเดินทางสำรวจทางทะเลทั่วโลกกับเรือบีเกิล (HMS Beagle) เป็นเวลา 5 ปี ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้กับสิ่งมีชีวิตในภูมิภาคที่แตกต่างกัน เขาได้ศึกษาอย่างละเอียดและทำวิจัยเพิ่มเติมต่อเนื่อง และได้พิมพ์หนังสือชื่อ The Origin of Species (กำเนิดของสรรพชีวิต) ซึ่งเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา ช่วงแรกมีการโต้แย้งต่อต้านผลงานของเขาอย่างมากโดยเฉพาะจากฝ่ายศาสนจักร อีกหลายสิบปีต่อมาจึงเป็นที่ยอมรับและให้การยกย่อง นอกจากนี้เขายังมีผลงานเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์และการคัดเลือกทางเพศ และผลงานอื่นๆอีกมาก ดาร์วินได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ผลงานเด่น :
– ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Theory of natural selection)
– หนังสือการสืบเชื้อสายของมนุษย์และการคัดเลือกโดยสัมพันธ์กับเพศ (The Descent of Man, and Selection in Relation to Sex)
4. อาร์คิมิดีส (Archimedes)
อาร์คิมิดีส (287- 212 ก่อนคริสต์ศักราช) เป็นนักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักปรัชญา นักฟิสิกส์ และวิศวกรชาวกรีก ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดและเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคโบราณ อาร์คิมิดีสมีผลงานด้านวิทยาศาสตร์มากมาย เป็นผู้วางรากฐานให้แก่วิชาสถิตยศาสตร์, สถิตยศาสตร์ของไหล และกลศาสตร์ เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องจักรกลหลายชิ้น รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องผ่อนแรงที่ยังใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน งานด้านคณิตศาสตร์อาร์คิมิดีสเป็นผู้คิดวิธีหาพื้นที่และปริมาตรของรูปทรงเรขาคณิตมากมาย อาร์คิมิดีสแสดงให้เห็นว่าค่า π (pi) มีค่ามากกว่า 223/71 แต่น้อยกว่า 22/7 ตัวเลขหลังนี้ถูกนำมาใช้เป็นค่าประมาณของ π มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
เรื่องเล่าที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดเกี่ยวกับอาร์คิมิดีสคือตอนที่เขาค้นพบวิธีหาปริมาตรของมงกุฎทองของพระเจ้าเฮียโรที่ 2 เพื่อพิสูจน์ว่ามีการผสมเงินเข้าไปด้วยหรือไม่ อาร์คิมิดีสค้นพบตอนที่เขากำลังอาบน้ำแล้วสังเกตเห็นว่าระดับน้ำในอ่างเพิ่มสูงขึ้นขณะเขาก้าวลงไป จึงคิดวิธีหาปริมาตรของมงกุฎโดยวิธีแทนที่น้ำได้ ซึ่งนำไปสู่การพิสูจน์ได้ว่ามงกุฏทองมีเงินผสมอยู่จริงๆ ด้วยความตื่นเต้นดีใจอาร์คิมิดีสจึงวิ่งออกไปยังท้องถนนทั้งที่ยังแก้ผ้า แล้วร้องตะโกนว่า “ยูเรก้า!” (ภาษากรีกแปลว่าฉันพบแล้ว)
ผลงานเด่น :
– ประดิษฐ์ปั๊มเกลียว (Screw Pump) ที่เรียกกันว่าเกลียวอาร์คิมิดีสซึ่งยังคงใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันสำหรับในการขนถ่ายน้ำ ถ่านหิน และเมล็ดธัญพืช
– ประดิษฐ์เครื่องผ่อนแรงหลายชนิด เช่น คานดีดคานงัด (Law of Lever) และลูกรอกใช้ สำหรับยกของหนักซึ่งยังใช้งานกันอยู่ถึงปัจจุบันเช่นกัน
– คิดค้นสูตรคณิตศาสตร์ที่ใช้ในการหาพื้นที่และปริมาตรของทรงกลม ทรงกระบอก ทรงกรวย ภาคตัดกรวย ฯลฯ
– คิดค้นกฎของอาร์คิมีดีส (Archimedes Principle) ที่เป็นรากฐานของวิชาสถิตยศาสตร์ของไหลและใช้ในการหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุ
5. อริสโตเติล (Aristotle)
อริสโตเติล (384 – 322 ก่อนคริสต์ศักราช) เป็นนักปรัชญาคนสำคัญในยุคกรีกโบราณ เป็นศิษย์เอกของเพลโต เป็นอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในสมัยที่อริสโตเติลมีชีวิตอยู่นั้นวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยได้รับความสนใจเพราะผู้คนยังไม่เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นได้อย่างไร แต่อริสโตเติลสนใจศึกษาและเจนจบในหลากหลายสาขาวิชาทั้งฟิสิกส์ อภิปรัชญา จริยธรรม ชีววิทยา และสัตววิทยา เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตสัตว์และจัดแบ่งประเภทสัตว์อย่างเป็นระบบ แม้ทฤษฎีของเขาบางอย่างที่ภายหลังได้รับการพิสูจน์ว่าผิดเช่น ความเชื่อที่ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าในสมัยสองพันกว่าปีก่อนนั้นยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์เลย แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นนักสังเกตและนักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะแนวคิดทางปรัชญาที่ได้รับการยอมรับจากผู้คนจำนวนมาก
อริสโตเติลได้รับการยกย่องว่าเป็นคนแรกที่เป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์และบิดาแห่งชีววิทยา อริสโตเติลเขียนหนังสือไว้มากมายเป็น 1,000 เล่ม แนวคิดและงานเขียนของเขามีอิทธิพลต่อผู้คนและความเชื่อในศาสนาคริสต์จนถึงยุคกลางเป็นเวลานานถึง 1,500 ปี
ผลงานเด่น :
– ทฤษฎีทางด้านชีววิทยาและการจำแนกสัตว์ออกเป็น 2 พวกใหญ่คือพวกมีกระดูกสันหลัง (Vertebrates) และพวกไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrates)
– หนังสือที่เขาเขียนในสรรพวิชาที่เป็นแนวคิดหลักให้แก่คนรุ่นหลัง
ที่มา: takieng