5การค้นพบวิทยาศาสตร์
1. วิทยาศาสตร์เปลี่ยน co2 ให้กลายเป็นหิน โดยใช้เวลาไม่กี่เดือน
กิจกรรมของมนุษย์ปล่อย ‘คาร์บอนไดออกไซด์’ (CO2) ปริมาณมหาศาลจนธรรมชาติต้องขอบายไปซดน้ำใบบัวบก แม้เราสามารถพัฒนาวิทยาการเพื่อลดการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้แล้ว แต่ค่าใช้จ่ายยังโขอยู่ แล้วเรามีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม?
ถ้าอย่างนั้นก็ฝังให้กลายเป็น ‘หิน’ ซะเลยสิ! ทีมนักวิจัยนานาชาติพยายามศึกษาความเป็นไปได้ โดยการปั้ม CO2 ลงไปในชั้นใต้ดินและเปลี่ยนสารองค์ประกอบมันเสียหน่อย ซึ่ง CO2 จะกลายเป็นของแข็งโดยใช้เวลาไม่กี่เดือน ทำให้การจัดการกากของเสียจากโรงไฟฟ้าเป็นไปได้อย่างปลอดภัยและรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด
โครงการนี้ใช้ชื่อรหัสว่า CarbFix ทดลองติดตั้งในโรงไฟฟ้า Hellisheidi โดยปั้มลงไปชั้นหินบะซอลภูเขาไฟใต้โรงงานนี้เอง เมื่อหินบะซอลทำปฏิกิริยากับ CO2 และน้ำ ตะกอนคาร์บอนจะเปลี่ยนเป็นสีขาวมีความแข็ง ไม่ซึมขึ้นมาบนผิวดิน ไม่ละลายน้ำ ตัดปัญหาการปนเปื้อนสภาพแวดล้อมแบบโล่งอกโล่งใจ
2. ทีมวิจัยพบนวัตกรรมแท่งนาโน ดูดวับน้ำจากในอากาศได้
ทีมวิจัยพัฒนา ‘Nanorods’ ได้อย่างบังเอิญในห้องทดลอง มันคือ ก้านคาร์บอนขนาดเล็กจิ๋ว ที่สามารถสกัดและคายน้ำจากอากาศได้ แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมอันแห้งแล้งก็ตาม ซึ่งเป็นไปได้ว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถนำไปปรับปรุงเป็น ‘เครื่องกรองน้ำจากอากาศ’ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ใช้พลังงานนิดเดียว หรือนำไปผลิตเป็นเส้นใยสำหรับสวมใส่ เพื่อการดูดซับเหงื่อจากร่างกายดีกว่าเส้นใยใดๆในโลก
David Lao จาก Pacific Northwest National Laboratory (PNNL) และทีมงานบังเอิญค้นพบ ‘Nanorods’ ในขณะกำลังพัฒนาเส้นใยแม่เหล็กนาโน (Magnetic Nanowires) แต่กลายเป็นว่าเส้นใยที่พวกเขาทำ กลับมีน้ำหนักมากขึ้นตามความชื้นในห้องอย่างมีนัยยะ จนตอนแรกพวกเขาคิดว่าสิ่งประดิษฐ์นั้น “เจ๊งบ๊ง” ไปแล้ว
แต่เมื่อส่องดูในกล้องจุลทรรศน์ ปรากฏว่าเส้นใย Nanorods โอบอุ้มน้ำในห้องไว้ โดยน้ำจะยึดปลายเส้นใยไว้ด้วยกัน แต่เมื่อปลายเส้นใยห่างกันเกิน 1.5 นาโนเมตร น้ำก็คายออก!
ความฟลุคสุดกู่ ทำให้วงการเทคโนโลยีนาโนกลับมาคึกคัก และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคต พวกเราจะสามารถผลิตน้ำไว้ใช้เองจากการควบแน่นหยดน้ำในอากาศ แม้จะอยู่กลางทะเลทรายอันร้อนระอุ พวกเราก็ไม่มีทางขาดน้ำตายอย่างแน่นอน
3. สหรัฐอเมริกา ฝึกตั๊กแตนพิสูจน์ระเบิดได้
มนุษย์ใช้สัตว์ตรวจวัตถุระเบิดมานานแล้ว ในปัจจุบันเราใช้สุนัขดมกลิ่นซึ่งทำหน้าที่ไม่เลว นักวิจัยเขมรก็ฝึกหนูไว้กู้ระเบิด (และเราก็เคยทู่ซี้ใช้ไสยศาสตร์และ Pseudoscience ไปกับ GT200)
คราวนี้ไม่ยกหน้าที่ ให้แมลงดูบ้างล่ะ? ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ Baranidharan Raman จากมหาวิทยาลัย Washington ทดสอบความสามารถในการตามกลิ่นของตั๊กแตน ซึ่งพวกมันมีทักษะการดมกลิ่นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อย่างเก่งกาจ ก็น่าจะเป็นไปได้ที่มันจะตามกลิ่นวัตถุหรือวงจรระเบิดได้ด้วย
ทีมวิจัยออกแบบรอยสักที่สามารถส่งผ่านความร้อนไปยังปีกของแมลง เพื่อควบคุมทิศทางการบินของมันได้ เมื่อตั๊กแตนพบวัตถุต้องสงสัย มันจะส่งสัญญาณประสาทไปยังคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วที่ติดอยู่บนลำตัว เพื่อตีเป็นสัญญาณด้วยแสง LED ว่า ‘ใช่ (สีเขียว)’ หรือ ‘ไม่ใช่(สีแดง)’
ทีมงานของ Ramen วางแผนสร้างกองทัพตั๊กแตนพร้อมใช้งานในอีก 2 ปี หลังจาก สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือของสหรัฐฯ สนับสนุนทุนวิจัย 750,000 เหรียญ
4. JUNO ส่งภาพแรกจากการสำรวจดาวพฤหัส
ขณะที่โคจรรอบดาวพฤหัสในระยะห่าง 3 ล้านไมล์ เผยให้เห็นดาวในด้านที่ถูกแสงอาทิตย์ และ ดวงจันทร์ลิบๆ อีก 3 ดวง ไอโอ (Io) ยูโรป้า (Europa) และแกนีมีด (Ganymede) โดย Juno สัญญาว่าจะเข้าใกล้กว่านี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม
คำถามคือ ถึงตั้งนานแล้ว ทำไมพึ่งส่งภาพมา? เนื่องจากการเคลื่อนที่เข้าวงโคจรดาวพฤหัส ยาน Juno ต้องปะทะกับรังสีอย่างรุนแรง มันจึง ‘ปิดระบบ’ กล้องไว้เพื่อป้องกันความเสียหาย พอนักวิทยาศาสตร์เห็นภาพนี้แล้วก็โล่งใจ กล้อง JunoCam ยังทำงานได้ดีอยู่แม้ต้องเผชิญสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายก็ตาม
5. แพทย์ใช้เครื่อง VR เพื่อส่องสมองมนุษย์
แว่น VR ที่ใกล้วางตลาดกรุยทางสู่โลกบันเทิงเสมือนจริง แต่มันจะไม่ใช่ของเล่นขำๆ เมื่อแพทย์เองก็สนใจอยากส่องสมองคุณด้วยเจ้าเครื่องนี้เช่นกัน ทีมแพทย์ของ Surgical Theater เริ่มโครงการใช้เทคโนโลยี VR ร่วมกับการศัลยกรรมสมองผู้ป่วย โดยแพทย์จะสวมแว่นตา VR ในการสำรวจสมองที่อยู่ภายใต้กะโหลกในรูปแบบ Full 3D และกำหนดเส้นทางที่จะทำการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงในการทำลายเซลล์สมองส่วนที่ดี ซึ่งระบบ VR จะทำให้แพทย์ผ่าตัดได้อย่างแม่นยำและตรงจุดยิ่งขึ้น
ระบบทำงานร่วมกับ VR มีชื่อว่า SNAP (Surgical Navigation Advanced Platform) ที่ใช้การทำงานของ MRI และโมเดลความละเอียดสูง 3 มิติทำให้การวินิจฉัยโรครวดเร็วกว่าในอดีต
ระบบ SNAP พิสูจน์ตัวเองเป็นเวลา 7 เดือน ผ่าสมองผู้ป่วยไปแล้วกว่า 900 ราย และทีมแพทย์ก็ดูชื่นชอบมันมาก จนเชื่อว่า VR จะมายกมาตรฐานวงการแพทย์ได้อย่างน่าตื่นเต้น
ที่มา: thematter