วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

3สิ่งวิทยาศาสตร์น่ารู้ สิ่งที่เกิดกับโลกของเรา

3สิ่งวิทยาศาสตร์น่ารู้

1. ฮับเบิลพบ ‘ลูกบอลพลาสมา’ ยิงจากดวงดาวที่กำลังตาย

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ของรักของหวงองค์กรนาซ่า ตรวจจับ ‘ลูกบอลพลาสมา’ ขนาดดาวอังคารเรียกพี่ (ใหญ่กว่า 2 เท่า) ยิงตรงจากดาวที่กำลังจะตายในความเร็วสุดสปีด

แม้ปรากฏการณ์นี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสามารถตรวจพบได้ในทุกๆ 8.5 ปี มาตลอด 400 ปีที่ผ่านมา แต่นี้เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์รู้ว่ามันมาจากไหน!

ดาวที่น่าจะเป็นผู้ต้องสงสัยที่สุดคือ ‘V Hydrae’ ดาวแดงเถือกที่อยู่ห่างจากโลก 1,200 ปีแสง และมันกำลังจะตาย พินัยกรรมสุดท้ายคือการดีดมวลออกอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของดาวในขณะที่ร้อนจัดๆ ด้วยพลังงานนิวเคลียร์ เพราะลูกพลังงานพลาสมา อาจทำให้เราเข้าใจ เนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary nebula) ของจักรภพที่ยังเป็นปริศนา

ส่วนที่เคยเป็นแก๊สและฝุ่นผงชั้นผิวนอกของดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อย เมื่อดาวฤกษ์ดวงนั้นได้เปลี่ยนสภาพเป็นดาวยักษ์แดง และเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้หมดลงแล้ว แกนกลางของดาวก็จะยุบลงกลายเป็นดาวแคระขาว

ลูกบอลพลาสมาจึงเป็นพลังงานเฮือกสุดท้าย ที่มีความร้อนถึง 9,400 องศาเซลเซียส (ร้อนกว่าพื้นผิวดวงอาทิตย์ 2 เท่า) โดยยิงออกจากดาว V Hydrae จากด้านหน้าบ้าง ด้านหลังบ้าง ในระหว่าง 17 ปีที่นาซ่าเคยสังเกตการณ์ไว้

2. แกะโคลนนิ่ง สุขภาพยังดีอยู่หรือเปล่า?

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ‘ดอลลี่’ แกะโคลนนิ่งตัวแรกของโลกพิสูจน์ให้เห็นว่า DNA จากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เจริญวัยสามารถนำไปใส่ในไข่ที่ยังไม่ผสม เมื่อครบกำหนดออกมาดูโลก เจ้าแกะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับแกะเจ้าของเซลล์ทุกประการแบบทำสำเนามาไม่มีผิด

แม้ดอลลี่จะตายก่อนอายุขัยตามธรรมชาติเพียง 6ปีครึ่ง จากอาการโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) จนนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่า ‘การโคลนนิ่งอาจทำให้สิ่งมีชีวิตอายุสั้นลง’

เพื่อพิสูจน์ว่า สัตว์โคลนนิ่งจะมีสุขภาพแย่กว่าสัตว์ที่เกิดตามธรรมชาติหรือไม่? Kevin Sinclair และทีมนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย Nottingham ติดตามชีวิตของแกะ 4 ตัว ‘เด็บบี้’ ‘เดนนิส’ ‘ไดอานา’ และ ‘เดซี่’ ซึ่งทั้งหมดใช้เซลล์แช่แข็งชุดเดียวกันกับดอลลี่ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นญาติกัน

ทีมวิจัยติดตามช่วงเวลาตั้งแต่เกิด จวบจนพวกมันเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งขณะนี้เหล่าแฟมิลี่แกะมีอายุ 9 ปีแล้ว (ถ้าเทียบกับมนุษย์ก็มีอายุกว่า 60 – 70 ปี) แต่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี เทียบเท่าแกะที่เกิดตามธรรมชาติ จากการตรวจมวลกระดูก ความดัน และน้ำตาลในเลือด ไม่มีร่องรอยความแก่ชราก่อนวัยตามที่ตั้งข้อสังเกตกัน

แล้วทำไมดอลลี่ถึงตายก่อนวัยอันควรล่ะ? ทีมนักวิทยาศาสตร์แสดงความเห็นว่า ดอลลี่น่าจะติดโรคมาจากสัตว์อื่นๆ ในฝูงมากกว่าปัญหาทางพันธุกรรม และแกะตัวอื่นๆ ที่เกิดตามธรรมชาติและถูกเลี้ยงในสถาบันก็มีปัญหาโรคข้อเช่นกัน

งานศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า หากสัตว์โคลนนิ่งสามารถเอาชีวิตรอดในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากลืมตาดูโลกได้ ก็มีแนวโน้มว่าพวกมันจะมีชีวิตปกติเหมือนสัตว์ที่เกิดตามธรรมชาติทั่วไป ปัจจุบันการโคลนนิ่งใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดูดเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) เพื่อการวิจัยและปรับปรุงสายพันธุ์ในปศุสัตว์ให้แข็งแรงขึ้น

3. ครั้งแรกอาจจะ ‘ฟลุก’ แต่ครั้งที่สอง ‘ชัวร์แท้แน่นอน’

ทีมนักวิทยาศาสตร์พบ ‘คลื่นความโน้มถ่วง’ (Gravitational Wave) เป็นครั้งที่ 2 ห่างกันเพียงไม่กี่เดือน! เป็นที่ยืนยันแล้วว่า หอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วง ‘LIGO’ สามารถตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงได้อีกเป็นครั้งที่ 2 เพื่อยืนยันว่า ปรากฏการณ์ ‘หลุมดำชนกัน’ ในเอกภพ อาจเกิดถี่กว่าที่คิด!

เช่นเดียวกันกับการค้นพบครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์ตรวจจับ ‘หลุมดำ’ (Black hole) 2 ดวงหมุนรอบกันด้วยความเร็วสูง วนหลายรอบในหนึ่งวินาที ก่อนที่จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งกระบวนการนี้จะปล่อยคลื่นแรงโน้มถ่วงพลังมหึมาด้วยความเร็วแสง กางคลื่นออกเหมือนวงน้ำเมื่อ 1.4 พันล้านปีก่อนที่มนุษย์จะค้นพบปรากฏการณ์ที่ว่าเมื่อ 25 ธันวาคมปีที่แล้ว

การตรวจจับครั้งที่ 2 ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์มั่นใจมากขึ้น และอาจทำให้เรารู้จักความหลากหลายของหลุมดำที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วจักรวาล

ที่มา: thematter

Tags

แชร์:

เรื่องอื่นๆ