วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

สิ่งที่เกิดในอีก1ล้านปี ที่นักวิทย์ทำนายกับโลกและจักรวาล

เชื่อว่าทุกคนคงเคยมีความคิดอยากรู้อนาคตอันไกลโพ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ใช่แค่เพียงอนาคตของมนุษยชาติอย่างเดียวเท่านั้น แต่ชะตากรรมของโลกเราใบนี้ หรือถึงจักรวาลเองล่ะจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์เองจะไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าในอนาคตของพวกเราจะเป็นอย่างไร แต่พวกเขาก็พยายามที่จะคาดเดาอนาคตผ่านข้อมูลและเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน จนทำให้เราพอทราบได้คร่าวๆ ว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนจะมีอะไรบ้าง วันนี้เพชรมายาขอพาทุกท่านไปชมข้อมูลเหล่านี้กัน

1. ในอนาคตอีก 10,000 ปีข้างหน้า

หนึ่งในผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนก็คือการละลายของแผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก ในอีกไม่กี่ศตวรรษข้างหน้าจะเกิดการละลายของแผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้บางส่วน ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราว 3-4 เมตร นอกจากนั้น แบรนดอน เครเตอร์ นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวออสเตรเลียได้เสนอทฤษฎีที่ว่า มนุษย์มีโอกาสมากถึง 95% ที่จะสูญพันธ์ไปจากโลกนี้ภายในอีก 10,000 ปีข้างหน้า

ทฤษฎีนี้ได้รับการถกเถียงกันอย่างมาก บ้างก็ว่ามนุษย์เราจะผสมปนเปกันทุกเชื้อชาติ ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ทุกคนจะเหมือนกันหมด แต่พันธุกรรมที่แตกต่างกันอย่างเช่น มนุษย์ที่มีตาสีฟ้าหรือตาสีน้ำตาล ก็จะอาศัยอยู่กระจัดกระจายไปทั่วโลก

2. ในอนาคตอีก 13,000 ปีข้างหน้า

เมื่อมาถึงจุดนี้ การส่ายของแกนหมุนของโลกจะมาได้ครึ่งทาง แกนโลกจะกลับด้าน จนส่งผลให้ฤดูร้อนและฤดูหนาวเกิดขึ้นสลับฝั่งกับวงโคจรของโลก และฤดูกาลในซีกโลกทางเหนือจะเห็นการเปลี่้ยนแปลงได้เด่นชัดเนื่องจากมีพื้นที่ส่วนมากเป็นแผ่นดิน และมันจะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

3. ในอนาคตอีก 15,000 ปีข้างหน้า

อ้างอิงจากทฤษฎี Sahara Pump Theory การส่ายของแกนหมุนโลกที่เปลี่ยนไป จะทำให้เกิดลมมรสุมในแอฟริกาเหนือ จะเปลี่ยนทะเลทรายซาฮาร่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เหมือนกับที่มันเคยเต็มไปด้วยป่าฝนเมื่อประมาณ 5,000-10,000 ปีก่อน

4. ในอนาคตอีก 20,000 ปีข้างหน้า

พื้นที่เขตหวงห้ามเชอร์โนบิล ที่มีพื้นที่ประมาณ 2,600 ตารางกิโลเมตร ในประเทศยูเครนและเบรารุส จะกลับมาปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์อีกครั้ง หลังจากที่เกิดโศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดในปี ค.ศ. 1986 จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายสำหรับมนุษย์ไปอย่างน้อย 20,000 ปี

5. ในอนาคตอีก 36,000 ปีข้างหน้า

ดาวแคระแดง Ross 248 จะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกด้วยระยะห่าง 3.024 ปีแสง และมันจะกลายเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดแทนกลุ่มดาว Alpha Centauri เป็นระยะเวลา 8,000 ปี ก่อนจะคืนตำแหน่งนี้ให้กับ Alpha Centauri อีกครั้ง

6. ในอนาคตอีก 50,000 ปีข้างหน้า

น้ำตกไนแอการาและทะเลสาบอีรีที่เหลืออยู่ 32 กิโลเมตรจะหายไป โลกจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง ธารน้ำแข็งส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของแคนาดาจะหายไปจากการถูกกัดเซาะและจากการยกตัวของแผ่นดิน นอกจากนั้นระยะเวลา 1 วันของโลกเราจะยาวขึ้นอีก 1 วินาที เนื่องจากโลกหมุนรอบตัวเองช้าลง

7. ในอนาคตอีก 100,000 ปีข้างหน้า

ดาวฤกษ์ไฮเปอร์ไจแอนท์ VY Canis Majoris ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ (มีขนาด 1,420 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์) จะเกิดระเบิดขึ้นจนกลายเป็นไฮเปอร์โนวา ส่วนโลกเองจะเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟยักษ์ระเบิดขึ้นจนเกิดแมกม่าที่่มากมายมหาศาลถึง 400 ลูกบาศก์กิโลเมตร หรือมากกว่าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลถึง 30 เท่า นอกจากนั้นประมาณ 10% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ จะยังคงค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก

8. ในอนาคตอีก 200,000 ปีข้างหน้า

เนื่องจาก “การเคลื่อนที่เฉพาะ” (Proper Motion) จะทำให้เราไม่เห็นกลุ่มดาวจระเข้, กลุ่มดาวนายพราน และกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส อีกต่อไป ส่วนในอีก 250,000 ปีข้างหน้า ภูเขาไฟใต้น้ำ Loihi ที่อยู่บริเวณหมู่เกาะฮาวาย จะโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำในทะเลแปซิฟิก จนกลายเป็นเกาะใหม่

9. ในอนาคตอีก 300,000 ปีข้างหน้า

ดาว Wolf–Rayet และ WR 104 จะเกิดระเบิดกลายเป็นซุปเปอร์โนวา และนั่นอาจส่งผลให้เกิดรังสีแกมม่าที่คุกคามสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทิศทางองศาของรังสีว่าจะตรงโลกมากแค่ไหน เนื่องจากแกนหมุนของดาวยังไม่ได้รับการคำนวณอย่างแน่ชัด

10. ในอนาคตอีก 500,000 ปีข้างหน้า

โลกอาจเผชิญกับการชนจากดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 กิโลเมตร ส่วนเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้วที่หลงเหลืออยู่ในเครื่องปฏิกรณ์จะปลอดภัยแล้ว

11. ในอนาคตอีก 1 ล้านปีข้างหน้า

โลกจะเผชิญกับการปะทุของภูเขาไฟยักษ์อีกครั้งที่มีปริมาณแมกม่ามากกว่าครั้งที่แล้วถึง 8 เท่า ซึ่งเทียบเท่าได้กับการระเบิดของภูเขาไฟยักษ์ที่ทำให้เกิดทะเลสาบโตบา ในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อประมาณ 75,000 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ค้นพบมาในรอบ 25 ล้านปี นอกจากนั้น ดาวยักษ์แดง Betelgeuse จะเกิดระเบิดขึ้นจนสามารถมองเห็นได้ในเวลากลางวัน

ที่มา : boredpanda

Tags

แชร์:

เรื่องอื่นๆ