วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

ค้างคาวใช้หูในการเห็น สิ่งที่น่ารู้ของค้างคาว

ค้างคาว สัตว์ที่ใช้หูในการมองเห็น

คำว่า ค้างคาวตรงกับ bat ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรากศัพท์จากคำ blake ในภาษาเดนมาร์ก ที่แปลว่า บินหรือกระพือปีก

ถึงค้างคาวตัวแรกจะถือกำเนิดบนโลกเมื่อ 50 ล้านปีก่อน แต่การที่มันชอบบินออกหาอาหารในยามโพล้เพล้ และบินกลับมาพักผ่อนและนอนในถ้ำในยามฟ้าสาง ทำให้ผู้คนแทบไม่รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของค้างคาวเลย คนโบราณจึงมีนิทานเรื่องเล่าและตำนานเกี่ยวกับค้างคาวมากมาย เช่น คนมุสลิมคิดว่าค้างคาวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ แต่คนยิวคิดว่ามันเป็นสัตว์ชั่วร้าย ส่วนชาวยุโรปเชื่อว่า ผีดิบ Dracula สามารถแปลงตัวเป็นค้างคาวได้ เป็นต้น

เมื่อ 800 ปีก่อน ตำราชีววิทยามีเขียนเกี่ยวกับค้างคาวว่า มีปีกเหมือนนก แต่ปากมีฟัน มีหูเหมือนหมู ไม่ฟักไข่ แต่ออกลูกเป็นตัว และเลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อถึงปัจจุบันนี้ นักชีววิทยามีความรู้เกี่ยวกับค้างคาวดีขึ้น และมากขึ้นว่าโลกมีค้างคาวประมาณ 1,000 ชนิด ตั้งแต่ที่มีขนาดเล็กที่สุด คือ ค้างคาวกิตติ(Craseonycteris thonglongyai)ที่หนัก 1.75-2.00 กรัม และมีช่วงปีกกว้าง 16 เซนติเมตร จนถึงชนิดใหญ่ที่สุด คือPteropus neo-hibernicusที่มีช่วงปีกกว้าง 1.65 เมตร


ค้างคาว เป็นสัตว์ในอันดับ Chiroptera ที่แปลว่า มือที่ทำหน้าที่ปีก เป็นสัตว์สังคม คือชอบใช้ชีวิตเป็นกลุ่ม เวลาพักผ่อนมันจะใช้เล็บยึดเกาะเพดานถ้ำ แล้วห้อยหัวลง การอยู่ที่สูงทำให้สัตว์ที่บินไม่ได้ไม่สามารถทำร้ายมันได้ เพราะเวลาสัตว์ศัตรูที่บินได้บินเข้ามาทำร้าย เพียงมันปล่อยกรงเล็บ ตัวมันจะตกลงเล็กน้อย แล้วมันจะใช้ปีกกระพือหนีได้ในทันที ถึงค้างคาวจะบินไม่ได้เร็วเท่าเหยี่ยว แต่มันก็มิได้ตกเป็นอาหารเหยี่ยวบ่อย เพราะเหยี่ยวออกหาอาหารในเวลากลางวัน ส่วนมันบินออกหาอาหารในเวลากลางคืน ถึงกระนั้นค้างคาวก็มีศัตรู เช่น นกเค้าแมว และคนป่าที่ชอบฆ่ามันเป็นอาหาร

ตามปกติ ค้างคาวที่ชอบกินพืชจะกินผลไม้ และน้ำหวานจากดอกไม้ ส่วนค้างคาวที่ชอบกินสัตว์นั้นโปรดปรานแมลง หนู กบ ปลา ฯลฯ การชอบบริโภคแมลงทำให้ค้างคาวมีประโยชน์ต่อชาวไร่ที่ถูกแมลงคุกคาม และการชอบดูดน้ำหวาน ทำให้ค้างคาวมีส่วนช่วยพืชในการผสมเกสร สำหรับผลไม้ที่ถูกค้างคาวกินนั้น เวลาเมล็ดถูกขับถ่ายออกมา เมล็ดก็จะงอก เพราะขี้ค้างคาวเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพ และนี่ก็คือ กระบวนการแพร่พันธุ์พืชโดยสัตว์

แต่ในทางตรงกันข้าม การลอบกินผลไม้ จะทำให้ชาวไร่ชาวสวนมีรายได้ลด และถ้าค้างคาวที่เป็นพาหะโรคกลัวน้ำ บินมากัดคน คนๆ นั้นก็จะล้มป่วยเป็นโรคกลัวน้ำในเวลาต่อมา
ในทวีปอเมริกาใต้มีค้างคาวแวมไพร์(Desmodus rotundus)ที่มีขนาดเล็กพอๆ กับหนูบ้าน ค้างคาวชนิดนี้บินเร็ว และคลานคล่อง เวลามันเห็นสัตว์กำลังหลับ และถ้ามันกำลังหิวเลือด มันจะคลานไปเกาะบนตัวสัตว์ แล้วใช้เขี้ยวกัดเนื้อจนเป็นแผล จากนั้นก็จะใช้ลิ้น ช่วยดูดเลือดเข้าปาก เพราะน้ำลายค้างคาวมีโปรตีน Desmodus rotundus salivary plasminogen activator (DSPA) ที่สามารถป้องกันเลือดไม่ให้แข็งตัวได้ การดูดเลือดจึงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ความสามารถพิเศษเช่นนี้ชี้นำให้แพทย์พยายามหาวิธีนำ DSPA ไปใช้ในการรักษาคนไข้ที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน

ถึงค้างคาวจะชอบอยู่ร่วมกัน แต่ตัวผู้กับตัวเมียจะมีสังคมแยกกัน และจะเข้ามาปรองดอง เฉพาะเวลาจะผสมพันธุ์กันเท่านั้น ซึ่งมักจะเกิดในฤดูใบไม้ร่วง แต่การปฏิสนธิจะไม่เกิดทันทีทันใด เพราะการผสมพันธุ์จริงๆ จะเกิดในอีก 6 เดือนต่อมา ค้างคาวจึงเก่งกว่าคนในประเด็นนี้ เพราะผู้หญิงสามารถเก็บเชื้อผู้ชายได้นานไม่เกิน 3 วัน และเมื่อค้างคาวตั้งท้องแล้ว ตัวที่มีขนาดเล็กจะอุ้มท้องนาน 2 เดือน ส่วนตัวที่มีขนาดใหญ่จะตั้งท้องนาน 7-8 เดือน ค้างคาวคลอดลูกปีละตัว ลูกค้างคาวมีน้ำหนักค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับแม่ เช่น ค้างคาวตระกูล Vespertilionidae คลอดลูกหนัก 2 กรัม ในขณะที่แม่เหนัก 6-7 กรัมเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับคน แม่ที่หนัก 60 กิโลกรัม จะต้องคลอดลูกที่หนักถึง 20 กิโลกรัม ซึ่งจะเก่งเท่าค้างคาว และหลังจากคลอดแล้ว ลูกค้างคาวก็จะคลานหาเต้านมแม่จนพบตามสัญชาติญาณ และดูดนมแม่นาน 3 สัปดาห์ จากนั้นจึงเริ่มหัดบิน

ร่ายกายค้างคาวมีอัตราการเผาผลาญพลังงานค่อนข้างสูง แต่เวลาจำศีลอัตราการเผาผลาญพลังงานจะลดลงมาก เพราะร่างกายมันมีพลังงานสะสม (ไขมัน) พอสมควร นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันมีอายุยืนกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด อื่นที่มีขนาดไล่เรี่ยกัน นอกจากเหตุผลนี้แล้ว การคลอดลูกจำนวนน้อยก็มีส่วนในการทำให้มันมีอายุยืนด้วยถึงจะมีความสามารถพิเศษมากมาย แต่ความสามารถเหล่านี้ยังนับว่าน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถในการเห็นด้วยหู

ในปี ค.ศ. 1794 นักชีววิทยาชาวอิตาเลียนชื่อ Lazaro Spallanzani เมื่อจับค้างคาวได้ในหอนาฬิกา ได้ทดลองปิดตาค้างคาวทั้งสองข้าง แล้วปล่อยให้บินหาอาหาร Spallanzani ได้พบว่า ค้างคาวเหล่านี้ยังสามารถหาอาหารได้อย่างไร้ปัญหาใดๆ แต่ถ้าทดลองปิดหูทั้งสองข้างค้างคาวตัวนั้นจะบินชนผนังห้อง และหาเหยื่อไม่ได้เลย Spallanzani จึงคิดว่าค้างคาวใช้หูในการเห็น ซึ่งความคิดนี้ ผู้คนยุคนั้นคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล จึงไม่มีใครสนใจ
จนกระทั่งปี 1940 Donald Griffin นักชีววิทยาชาวอเมริกันได้ทดสอบประเด็นนี้ซ้ำ และยืนยันว่าค้างคาวใช้หูฟังเสียงสะท้อนจึงทำให้มันรู้ตำแหน่ง และลักษณะของเหยื่อ การสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับทำให้มันสามารถหาอาหาร และหลบหลีกศัตรูได้ Griffin จึงเรียกเทคนิคที่ค้างคาวใช้ในการใช้เสียงสะท้อนหาตำแหน่งว่า echolocation (ความสามารถด้าน sonar นี้ ค้างคาวได้ใช้ก่อนมนุษย์ 50 ล้านปี) Griffin ยังพบอีกว่า ค้างคาว(Eptesicus fuscus)ซึ่งเป็นค้างคาวสีน้ำตาลตัวใหญ่ สามารถเห็นเป้าที่มีขนาด 0.01 เมตร ที่ระยะไกล 2 เมตร ได้สบายๆ


ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน 2006 T. Kingston และ S.J. Rossiter ได้รายงานว่า ค้างคาวชนิดRhinolophus philippinensisในออสเตรเลีย และเอเชียอาคเนย์ เวลาหาเหยื่อที่มีขนาดใหญ่จะใช้เสียงที่มีความถี่ 27.2 ± 0.2 กิโลเฮิร์ตซ แต่เวลาหาเหยื่อขนาดเล็ก มันจะใช้ความถี่ 53.6 ± 0.6 กิโลเฮิร์ตซ นี่แสดงว่าค้างคาวเป็นสัตว์ที่สามารถปรับความถี่เสียงที่ส่งออกหาเหยื่อได้
ในวารสาร Ecology ฉบับที่ 88 เมื่อไม่นานมานี้ H.G. Alvarez ได้รายงานว่า ค้างคาวเป็นพาหะแพร่พันธุ์ที่ดีที่สุดของต้นกระบองเพชรขนาดยักษ์ (saguaro) ที่ชอบขึ้นในทะเลทราย การไม่มีใบทำให้ลำต้นของกระบองเพชรต้องเก็บสะสมน้ำให้มาก ตามปกติต้นกระบองเพชรNeobuxbaumia tetetzoนี้สูง 15 เมตร และมีน้ำ 6-7 ตัน เวลาต้นออกดอก ดอกจะมีขนาดเล็กและเกิดที่ปลายยอด ดอกจะบานนาน 2-3 สัปดาห์ และเมื่อดอกร่วง ผลที่มีลักษณะคล้ายมะเดื่อจะสุก เนื้อผลมีรสหวาน และเมล็ดมีสีดำ จึงเป็นที่โปรดปรานของค้างคาว และ Alvarez ก็ได้พบว่า เวลาค้างคาวถ่ายมูล เมล็ดต้นกระบองเพชรที่ยังคงสภาพดี และไม่เป็นอันตรายจากการถูกย่อย จะตกลงดินในบริเวณที่พืชพุ่ม Mimosa Luisana ขึ้น เพราะพืชพุ่มชนิดนี้ สามารถปกป้องต้นอ่อนของกระบองเพชรไม่ให้ถูกแดดเผาจนตาย ต้นอ่อนจึงเจริญเติบโตต่อไป

ด้วยเหตุนี้ ค้างคาวจึงช่วยแพร่พันธุ์ให้กระบองเพชร และต้นกระบองเพชรเองก็ชอบค้างคาว โดยการปรับสีผลของมันให้เตะตาค้างคาว (แต่ให้นกอื่นๆ เมิน) และให้ผลสุกเต็มที่ส่งกลิ่นหอมในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ค้างคาวออกหากิน

ในอนาคต National Human Genome Research Institute จะประกาศให้มีการถอดรหัสพันธุกรรม (genome) ของค้างคาว เพราะในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ ค้างคาวสำคัญพอๆ กับช้าง

ที่มา: scimath

Tags

แชร์:

เรื่องอื่นๆ