วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

การทดลองน่ากลัว

Retin-A หน้าใสไร้สิว จาก ‘นักโทษ’ ที่ไม่เต็มใจ

การทดลองน่ากลัว
ADVERTISEMENT

สิวขึ้นที่ไหนก็ได้ ขออย่ามาขึ้นหน้าฉัน! เรื่องสิวเป็นเรื่องใหญ่ราวแบกโลก ในสหรัฐอเมริกาปี 1969 ยาแต้มสิวยอดนิยมที่สุดเริ่มขายตามท้องตลาดในชื่อ Retin-A ที่เหล่าวัยรุ่นทุกคนต้องมีไว้ครอบครอง (ปัจจุบันก็ยังมีขาย) แต่ในอดีตผลิตภัณฑ์นี้ มีความลับที่ไม่น่าพิสมัย เพราะมันมาจากการทดลองในนักโทษกว่า 1,000 ชีวิต ในลักษณะ ‘หนูลองยา’ เป็นเวลานานกว่า 23 ปี โดยที่ไม่มีใครเต็มใจ

แพทย์ผิวหนัง Albert Kligman อยากทดลองสินค้าตัวใหม่ด้านผิวและความงามของบริษัท โดยต้องการกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก จึงหว่านล้อมทัณฑสถาน Holmesburg ในรัฐเพนซิลเวเนีย ให้จัดนักโทษมาเป็นอาสาสมัครกว่า 1,000 คน โดยไม่มีการแจ้งว่าการทดลองเกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายหลายชนิด ตั้งแต่ครีมสูตรพิลึกที่มีสารโลหะหนัก ปรอท กรดกัดกร่อน และสารก่อมะเร็งอีกนับไม่ถ้วน แลกกับค่าจ้างเพียงน้อยนิด

“มีพื้นที่ผิวหนังใบหน้าเป็นเอเคอร์ๆ ให้ได้ทดลอง เหมือนชาวนาเจอผืนนาชั้นดี” Albert Kligman เคยกล่าวกับนักข่าวเมื่อเขาไปเยือนคุก

นักโทษรายงานว่า บางรายมีอาการแพ้หนัก หน้าพัง ปวดแสบปวดร้อน โดยไม่รู้ว่าตนเองถูกทดลองด้วยอะไร ซึ่งกินเวลานานกว่า 23 ปี จนเกิดพิษสะสมในร่างกาย แต่ภายหลังพบว่าตัวยาใน Retin-A กลับมีสรรพคุณในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือ ‘ลูคีเมีย’ ได้ด้วย

การกระทำของแพทย์ Albert Kligman เป็นบทเรียนสำคัญที่วางรากฐานการทดลองวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต้องแจ้งอาสาสมัครให้ชัดเจนก่อนว่า จะมีการใช้สารเคมีอะไรบ้าง เพื่อให้รับทราบรายละเอียดและต้องยินยอมด้วยความสมัครใจเท่านั้น

ADVERTISEMENT

(จะเป็นไรไป! ครีมกวนเองที่บ้านที่ฮิตขายในอินเทอร์เน็ต ก็ยังมีเหยื่อให้ลองยาเป็นแสนๆ คน แค่นักโทษ 1,000 คนนี่เด็กๆ ไปเลย)

กัมมันตรังสีกับความเป็นแม่

การทดลองน่ากลัว
ช่วงสงครามนิวเคลียร์กำลังร้อนระอุปี 1954 ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายล้วนทุ่มทรัพยากรไปที่การสะสมอาวุธมหาประลัย โดยเฉพาะนักวิจัยตามสถาบันต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาที่ถูก ‘ใบสั่ง’ โดยตรงจากรัฐบาลให้ทำวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของนิวเคลียร์เป็นหมื่นๆ ชิ้น เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าผลกระทบของกัมมันตรังสีจะมีความรุนแรงเช่นไรต่อสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะกับร่างกายของมนุษย์

ความโชคร้ายจึงตกไปอยู่กับบรรดาแม่ๆ ที่ถูกเกณฑ์มากถึง 829 รายในรัฐเทนเนสซี โดยนักวิจัยในมหาวิทยาลัย Vanderbilt ตั้งสมมติฐานว่า กัมมันตรังสีจะมีอิทธิพลต่อ ‘รก’ (Placenta) ของมารดาอย่างไร จึงอำพรางในรูปแบบ ‘น้ำดื่มวิตามิน’ แจกจ่ายให้หญิงตั้งครรภ์ โดยบิดเบือนว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ผลทดลองพบว่า ผู้หญิง 239 คนได้รับกัมมันตรังสีขั้นรุนแรง เด็ก 4 รายเสียชีวิตจากโรคมะเร็งและลูคีเมีย ส่วนแม่ๆได้รับผลกระทบเป็นผื่น รอยช้ำทั่วร่างกาย ผมร่วงฟันร่วง และมะเร็งในเวลาต่อมา

งานวิจัยนี้กรุยทางให้เห็นภัยกัมมันตรังสีที่มีอิทธิพลต่ออวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ซึ่งกินเวลานาน ส่งผลกระทบต่อประชากรมนุษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า

เซลล์อมตะของ HeLa

การทดลองน่ากลัว
ณ โรงพยาบาล John Hopkins ปี 1951 สาวชาวนา เฮนเรียตตา แล็กส์ (Henrietta Lacks) อายุ 31 ปี กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก (cervical carcinoma) ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ในช่วงสุดท้ายของชีวิตไม่เพียงกี่ชั่วโมง แพทย์ได้ทำการตัดเนื้อมะเร็งออกไปจากเฮนเรียตตาโดย ‘ไม่ได้ขออนุญาต’ จากเจ้าตัว ซึ่งเซลล์มะเร็งของเฮนเรียตตาเองมีความพิเศษจนน่าตื่นตา คือสามารถเจริญเติบโตได้ไม่มีวันสิ้นสุดราวกับเป็น ‘อมตะ’ นักวิจัยจึงนำเซลล์มะเร็งมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลองรุ่นแล้วรุ่นเล่าในชื่อลับเพื่อปกปิดเจ้าของเซลล์มะเร็งเดิมว่า ‘HeLa’

เซลล์อมตะ HeLa สร้างประโยชน์ให้กับวงการวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง กรุยทางให้เราพัฒนาวัคซีนรักษาโรคโปลีโอสำเร็จ หาความเป็นไปได้ในการการปฏิสนธิภายนอกร่างกายที่ใกล้เคียงธรรมชาติหรือ IVF ต่อยอดสู่งานวิจัยเพื่อรักษาเอดส์และมะเร็งกว่า 20 ปี ซึ่งเซลล์ HeLa ถูกส่งต่อไปสถาบันต่างๆ ทั่วโลกอย่างเป็นนิรันดร์

กระนั้นเลย เฮนเรียตตา แล็กส์ และครอบครัวไม่ได้ผลประโยชน์จากเซลล์ร่างกายเธอเลย หลุมศพที่แท้จริงของเธอก็ยังไม่สามารถระบุได้ มีเพียงเซลล์มะเร็งของเธอและองค์ความรู้ทางการแพทย์เท่านั้นที่ยังเติบโตต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

‘วิจัยแห่งปีศาจ’ ไขความลับอาการติดอ่าง


ตลอดชีวิตของ เวนเดลล์ จอห์นสัน (Wendell Johnson) เขาอับอายทุกครั้งที่ต้องเอ่ยปากพูด เพราะอาการ ‘ติดอ่าง’ เข้าขั้นหนักทำให้เขาสูญเสียความมั่นใจในการพูดไปโดยปริยาย กระทั่งเติบโตจนมีอาชีพเป็นนักจิตวิทยา เขาเองก็ยังคงฝังใจกับอาการติดอ่างที่สะบัดไม่หลุด ก่อให้เกิดสมมติฐานที่เขาอยากหาคำตอบมาตลอดชีวิตว่า อาการติดอ่างน่าจะมีอิทธิพลมาจากปัจจัยทางกายภาพและสามารถส่งต่ออาการติดอ่างผ่านการเรียนรู้ได้

เขาเริ่มคัดเลือกและทำการทดลองกับเด็กกำพร้า 22 คน โดยสร้างสภาพแวดล้อมปิดราวกับสัตว์ทดลอง เก็บงำเป็นความลับในมหาวิทยาลัยไอโอวา จนเมื่อข่าวแพร่ออกไปสร้างความสะเทือนขวัญให้กับวงการจิตวิทยาเป็นอย่างมาก งานวิจัยถูกขนานนามว่า ‘Monster Study’ เพราะนักวิจัยเปลี่ยนบทบาทตัวเองเป็นปีศาจที่โหดเหี้ยมต่อจิตใจของเด็กๆ

เด็กๆ ถูกแยกออกเป็นกลุ่มภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน กลุ่มหนึ่งได้รับการบำบัดด้านการพูดในเชิงบวก อีกกลุ่มจะถูกกดดันต่างๆ นานา เช่น จะไม่ให้โอกาสพูดคุย หากทำภารกิจใดๆ ระหว่างทดลองไม่สำเร็จเป็นการลงโทษ ถูกต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือผู้ควบคุมจะสื่อสารด้วยประโยคที่ไม่สมบูรณ์

แทบไม่ต้องเดาเลยว่า เด็กๆ ในกลุ่มที่มีการปฏิบัติเชิงลบตลอดเวลา มีแนวโน้มจะติดอ่างมากขึ้น หนำซ้ำทำให้การพูดบกพร่อง หลายคนเติบโตเป็นคนไม่กล้าพูด กลายเป็นบาดแผลติดตัวตลอดชีวิต

งานวิจัยนี้มีการฟ้องร้องหลายพันล้านเหรียญถึงผลกระทบการทดลองที่มีอิทธิพลไม่เพียงแค่การพูด แต่ส่งผลต่อจิตใจระยะยาว ปี 2011 มหาวิทยาลัยไอโอว่าออกหนังสือขอโทษที่ปล่อยให้การทดลองนี้เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย

จงเชื่อฟัง! นี่คือคำสั่งของ ‘มิลแกรม’

การทดลองน่ากลัว
เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวด้วยน้ำมือของนาซี อะไรถึงเปลี่ยนให้มนุษย์ธรรมดากลายเป็นอสูรที่ไร้จิตใจเข่นฆ่ามนุษย์ด้วยกันอย่างไร้ความปราณี? เพียงไม่กี่เดือนหลังจากการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามนาซี อดอล์ฟ ไอชมันน์ ในนครเยรูซาเล็ม (ถูกประหารด้วยการแขวนคอ)

นักจิตวิทยา สแตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) ตั้งสมมติฐานว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ไอชมันน์และผู้ร่วมกระทำความผิดนับล้านในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวแค่เพียงกระทำตามสั่งเท่านั้น ความเชื่อฟัง (obedience) อาจเป็นเครื่องมือในการสร้างอสูรกายที่น่ากลัวชิ้นหนึ่งของมนุษย์

มิลแกรมประกาศรับสมัครผู้ร่วมการทดลองโดยอำพรางว่าเป็นการวิจัยเกี่ยวกับความทรงจำ จนได้อาสาสมัครจำนวน 40 คน การทดลองมีการมอบบทบาทสมมติระหว่าง ‘ผู้สอน’ และ ‘ผู้เรียน’ โดยจะไม่เห็นหน้ากัน สื่อสารผ่านเสียงเท่านั้น ผู้สอนจะต้องอ่านชุดคำให้ผู้เรียนท่องจำ หากลืมก็จะถูกลงโทษ โดยผู้สอนจะช็อตไฟฟ้าใส่ผู้เรียนที่นั่งบนเก้าอี้ไฟฟ้า ไล่ระดับความรุนแรงไปเรื่อยๆ จากกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ จนถึงอันตรายต่อชีวิต ในห้องทดลองจึงระงมไปด้วยเสียงร้องโหยหวนจากผู้เรียนท้าทายจิตใจผู้สอน ว่าจะหยุดหรือทรมานต่อไปดี?

งานวิจัยมีกลเม็ดหลอกล่อที่น่าสนใจ ซึ่งบทบาท ‘ผู้เรียน’ จริงๆ แล้วเป็นอาสาสมัครตัวปลอมที่ไม่ได้ถูกช็อตไฟฟ้าจริงๆ แต่แกล้งร้องเพื่อกดดัน ‘ผู้สอน’ (อาสาสมัครตัวจริง) ว่าเขาจะช็อตไฟฟ้าต่อไปหรือไม่ ทั้งที่รู้ว่ามีคนกำลังทรมานอยู่ ส่วนใหญ่อยากจะหยุด แต่ผู้ควบคุมการทดลองมักย้ำด้วยประโยคเดิมๆว่า “จงทำต่อไป” แม้ผู้สอนจะรู้สึกลำบากใจแค่ไหน แต่ก็ยังคงเชื่อฟังคำสั่ง ยอมลงมือปล่อยไฟฟ้าให้ช็อตผู้เรียนต่อไป

ผลปรากฏว่าอาสาสมัครในบทบาทผู้สอน (หรือคนลงมือช็อตไฟฟ้า) มีมากถึง 65% เชื่อฟังคำสั่งโดยไม่หยุด ซึ่งหากมีการช็อตไฟฟ้าจริงๆ พวกเขาอาจเป็นฆาตกรฆ่าคนไปแล้ว

งานวิจัยของมิลแกรมชิ้นนี้ถูกตั้งคำถามทางจริยธรรมจากการสร้างบรรยากาศสุดตึงเครียด แต่จุดประกายคำถามต่อการเชื่อฟังคำสั่งของผู้นำในทุกสังคม กลายเป็นงานวิจัยสุดฮอตของยุค (และอาจจะตลอดกาล) ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางมากที่สุด และทำให้คนกังขากับการใช้อำนาจของรัฐอันไม่ชอบธรรม ก่อให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาสังคมอีกไม่รู้จบ

Tags

แชร์:

เรื่องอื่นๆ