วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

สุนัขหรือแมว สัตว์ชนิดไหนฉลาดกว่ากัน

สุนัขหรือแมว

อเล็กซานดรา โฮโรวิตซ์ นักวิจัยอาวุโสที่เชี่ยวชาญด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุนัขจากวิทยาลัยบาร์นาร์ดในนิวยอร์กกล่าวว่า มนุษย์เรามีนิสัยชอบเปรียบเทียบความฉลาดระหว่างเผ่าพันธุ์ “แมวก็ฉลาดในสิ่งที่แมวต้องทำ สุนัขเองก็เช่นกัน” เธอกล่าว “ฉันไม่คิดว่ามันจะสมเหตุสมผลที่จะพูดถึงความฉลาดของสายพันธุ์” ในขณะที่ ไบรอัน แฮร์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาวิวัฒนาการที่มหาวิทยาลัยดุกเห็นด้วยกับแนวคิดนี้

“การถามว่าสุนัขฉลาดกว่าแมวหรือไม่ก็เหมือนกับการถามว่า ค้อนเป็นเครื่องมือที่ดีกว่าไขควงหรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับว่ามันถูกออกแบบมาสำหรับอะไร” ไบรอันกล่าว

แต่แนวคิดของศาสตราจารย์ทั้ง 2 คนก็ไม่ได้ความว่า นักวิจัยด้านพฤติกรรมสัตว์ไม่ได้พยายามวัดความฉลาดของแมวและสุนัข หรือความสามารถทางสติปัญญาที่เกินกว่าความจำเป็นในการดำรงชีวิต

คริสติน ไวเทล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสัตว์ที่วิทยาลัยยูนิตีในรัฐเมนกล่าวว่า ความฉลาดของสัตว์โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ส่วนกว้าง ๆ ได้แก่ ความสามารถในการแก้ปัญหา, การเรียนรู้จากประสบการณ์ และความฉลาดทางสังคม

คริสตินศึกษาเรื่องแมวเป็นหลัก และปัจจุบันเธอมุ่งเน้นไปความฉลาดทางสังคมของแมว ซึ่งบ่อยครั้งเราพบว่าแมวถูกมองว่าชอบสันโดษและไม่สนใจมนุษย์ แต่จริง ๆ แล้วแมวมีความฉลาดทางสังคมในระดับสูง และมักจะอยู่ในระดับเดียวกับสุนัข

ตัวอย่างเช่น การศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าแมวสามารถแยกแยะระหว่างชื่อของพวกเขาและคำที่ออกเสียงคล้ายกันได้ และพวกเขายังพบว่าแมวชอบปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์เพื่ออาหาร ของเล่น และกลิ่น นอกจากนั้นหากมนุษย์ให้ความสนใจกับแมว แมวก็ตอบสนองด้วยการใช้เวลากับคน ๆ นั้นมากขึ้น

ในการศึกษาชิ้นหนึ่งที่เปรียบเทียบแมวกับสุนัขโดยตรง นักวิจัยพบว่าความสามารถในการค้นหาอาหารที่ซ่อนอยู่โดยใช้เบาะแสจากมนุษย์ระหว่างแมวและสุนัขไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ “แมวขาดองค์ประกอบบางอย่างของพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจเมื่อเทียบกับสุนัข”

แล้วขนาดสมองล่ะ ? แนวคิดโดยทั่วไปคือ ขนาดของสมองเป็นตัวกำหนดความฉลาด และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สุนัขก็ดูเหมือนว่าจะฉลาดกว่าแมว

ศจ.ไบรอันกล่าวว่า เขาและ อีวาน แม็กลีน นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ได้เปิดรับนักวิจัยมากกว่า 50 คนทั่วโลกเพื่อมาทดสอบงานวิจัยของเขาเกี่ยวกับสัตว์ทั้งหมด 550 สายพันธุ์ รวมถึง นก ลิง สุนัข ลีเมอร์ และช้าง แนวคิดของเขาคือการทดสอบ “ความยั้งคิดไตร่ตรอง”

การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า “ยิ่งสมองของสัตว์ใหญ่เท่าใด พวกมันก็ยิ่งควบคุมตัวเองได้มากขึ้นเท่านั้น” ซึ่งศจ.ไบรอันกล่าวว่า ความสามารถในการควบคุมตัวเองเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้การทำงานด้านความรู้ความเข้าใจระดับสูง

หรือถ้าไม่นับขนาดสมอง แต่นับจำนวนเซลล์ประสาทในเยื่อหุ้มสมอง สุนัขจะมีเซลล์ประสาทราว 429 ล้านเซลล์ถึง 623 ล้านเซลล์สำหรับสุนัขพันธุ์ผสมและโกลเดนรีทรีฟเวอร์ ในขณะที่แมวมีเซลล์ประสาท 250 ล้านเซลล์ นั่นหมายความว่าตามธรรมชาติแล้ว แมวจะมีความสามารถในการรับรู้น้อยกว่าสุนัข

การศึกษาหนึ่งในปี 2008 พบว่า แมวไม่สามารถนับหรือระบุปริมาณได้ดีเท่ากับสุนัขและปลา แต่แมวจะฉลาดน้อยกว่าปลาจริงหรือ

ในขณะที่อีกงานศึกษาในปี 2006 ของมหาวิทยาลัย Eötvös Loránd ในบูดาเปสต์ แสดงให้เห็นว่า แมวสามารถไขปริศนาต่าง ๆ ได้และจะใช้เวลาอยู่กับมันจนกว่าจะถูกต้อง ไม่เหมือนกับสุนัขที่จะขอความช่วยเหลือจากเจ้าของ

บทสรุป

เราอาจไม่ได้สรุปได้อย่างแน่ชัดว่าใครจะเป็นผู้ชนะกันแน่ ถึงแม้ว่าโดยรวมแล้วสุนัขจะดูมีภาษีเหนือกว่าแมวเล็กน้อย แต่พวกมันเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่กับมนุษย์เป็นเวลานานกว่าแมวมากนัก พวกมันจึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของมนุษย์ได้ดีกว่า ดังนั้นหากเราวัดความฉลาดของพวกมันด้วยการเข้าสังคม หรือความสามารถในการทำตามกฎ พวกมันจะล้ำหน้ากว่าแมวมากนั่นเอง

ที่มา : livescience

Tags

แชร์:

เรื่องอื่นๆ