วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

วิทยาศาสตร์น่ารู้ ในชีวิตประจําวัน เรื่องวิทยาศาสตร์น่ารู้สั้นๆ

ปลาประหลาดหัวใส ภาพถ่าย 1 ใน 9 ครั้งที่ถูกค้นพบ

ลึกลงไปหลายพันฟุตใต้พื้นผิวมหาสมุทรบริเวณอ่าวมอนเทเรย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย นักวิทยาศาสตร์ได้พบกับปลาประหลาดชนิดหนึ่งที่มีหัวโปร่งแสง และมีดวงตาสีเขียวกลม คล้ายลูกบอลที่งอกออกมาจากหน้าผาก มันคือหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดที่สุดที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก

สิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดนี้มีชื่อเรียกว่า ปลาบาเรลอาย (Macropinna microstoma) ที่พบเห็นได้ยากมาก นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์ (MBARI) ได้พบปลาชนิดนี้เพียง 9 ครั้งเท่านั้น แม้จะส่งเรือดำน้ำควบคุมระยะไกล (ROV) ลงไปสำรวจใต้ทะเลลึกมากกว่า 5,600 ครั้งในถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันก็ตาม

แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก MBARI ได้ส่งเรือ ROV Ventana ลงไปสำรวจใต้ทะเลที่ระดับความลึก 2,132 ฟุต บริเวณ Monterey Submarine Canyon หุบเขาใต้น้ำที่ลึกที่สุดบนชายฝั่งแปซิฟิก และได้พบกับปลาหายากชนิดนี้เข้าจนได้

โธมัส โนว์เลส ผู้ดูแลสัตว์น้ำอาวุโสจาก BMARI กล่าวว่า “ปลาบาเรลอายปรากฎขึ้นเป็นจุดเล็ก ๆ ในระยะไกล แต่ผมรู้ได้ทันทีว่ากำลังเห็นอะไรอยู่ มันไม่อาจเข้าใจผิดเป็นอย่างอื่นได้”

ในขณะที่ทีมงานในห้องควบคุมต่างตื่นเต้นกับสิ่งที่เห็น โธมัสยังคงโฟกัสอยู่ที่กล้องของ ROV ส่วนผู้ควบคุมเรือ นูเต เบรกเก พยายามให้พาเรือดำน้ำไปให้หามันให้ใกล้ที่สุด

“เราทุกคนต่างรู้ดีว่า นี่อาจเป็นประสบการณ์ครั้งเดียวในชีวิตที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เนื่องจากมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่หายากมาก ๆ” โธมัสกล่าว

ในวิดีโอดังกลาวทำให้เราได้เห็นภาพของปลาบาเรลอายอย่างใกล้ชิด ดวงตาของมันมีสีเขียวสดใส และสามารถมองเห็นได้ง่ายบนหัวใส ๆ ของมัน

MBARI กล่าวว่า ดวงตาของมันไวต่อแสงอย่างเหลือเชื่อ และสามารถเคลื่อนไหวขึ้นไปข้างหน้าหรือด้านบนของหัวได้ นอกจากนั้นยังมีแคปซูลสีเข้ม 2 จุดที่อยู่ข้างหน้าซึ่งเป็นอวัยวะที่มันใช้ในการดมกลิ่น

ที่อยู่อาศัยของปลาบาเรลอายมีตั้งแต่ทะเลแบริงไปจนถึงญี่ปุ่นและรัฐบาฮากาลิฟอร์เนียทางตะวันออกเฉียงเหนือของเม็กซิโก ปลาชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในเขต “ทไวไลท์ โซน” ที่มีความลึกระหว่าง 650 ถึง 3,300 ฟุต แต่จะพบบ่อยที่สุดที่ 2,000 ถึง 2,600 ฟุต ใกล้กับระดับความลึกที่น้ำเข้าสู่ความมืดมิด

ส่วนนักวิทยาศาสตร์เองมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับจำนวนประชากรของปลาชนิดนี้ พวกเขามีโอกาสพบมันได้ยากมากพอ ๆ กับ ปลาแองเกลอร์, ปลาเวลฟิช และปลาไหลกัลเปอร์

จากการสังเกตพฤติกรรมของปลาบาเรลอายที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Copeia ในปี 2008 นักวิทยาศาสตร์คิดว่าปลาบาเรลอายส่วนใหญ่จะอยู่นิ่งในขณะที่พวกมันรอจับเหยื่อที่ไม่ระวังตัวผ่านมา เช่น แพลงก์ตอนสัตว์และแมงกะพรุนที่ลอยมาอยู่เหนือตัวมัน

เมื่อดวงตาสีเขียวเคลื่อนไหวขึ้น พวกมันก็จะมองเห็นเงาของเหยื่อจากด้านบน และเม็ดสีเขียวสดใสในดวงตาของพวกมันอาจช่วยกรองแสงแดดจากพื้นผิวมหาสมุทร

ส่วนบริเวณหัวที่โปร่งแสงยังไม่มีใครทราบว่าทำไมมันถึงวิวัฒนาการมาเป็นเช่นนี้ได้ บางคนเชื่อว่ามันคือเกราะป้องกันหัวแบบใสที่ช่วยป้องกันเซลล์ที่เป็นพิษที่อยู่ในหนวดของไฟโฟโนฟอร์ สิ่งมีชีวิตญาติของแมงกะพรุนที่เป็นเหยื่อของมัน

ประวัติศาสตร์ของมันยังคงเป็นสิ่งที่ต้องศึกษากันต่อไป ถึงแม้ว่าปลาบาเรลอายจะถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1939 เมื่อชาวประมงจับมันได้ในอวน ซึ่งในตอนนั้นเองอวนได้ทำลายหัวที่โปร่งแสงของมันไปจนไม่มีใครรู้จักอวัยวะที่พิเศษนี้

จนกระทั่งในปี 2000 นักวิทยาศาสตร์ของ MBARI ได้พบเป็นปลาบาเรลอายที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติจริง ๆ และมันก็กลายเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจและแปลกประหลาดที่สุดในท้องทะเลบนโลกใบนี้

ที่มา : sciencealert

Tags

แชร์:

เรื่องอื่นๆ